ไวรัสซิกา
ไวรัสซิกาเป็นไวรัสซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ซิกาไวรัสสามารถติดต่อได้จากยุงกัด ผู้ป่วยจากไวรัสซิกาจะมีไข้ อาจจะมีผื่น ปวดตามข้อ และตาแดง โดยปกติแล้วอาการโดยรวมจะไม่รุนแรงมากและหายได้เองภายในไม่กี่วัน ผู้ป่วยอาการหนักพบได้น้อย และอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
การติดต่อ
ยุงลายเป็นพาหะสำคัญของไวรัสซิกา ซึ่งเป็นพาหะนำโรคชนิดเดียวกับไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่และไข้เลือดออกชิคุนกุนย่า ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่งและสะอาด เช่น แหล่งน้ำในครัวเรือน มีรายงานพบว่าหญิงที่ใกล้จะคลอดบุตรสามารถถ่ายทอดเชื้อสู่บุตรได้ และมีรายงานว่าเชื้อไวรัสสามารถผ่านทางน้ำนมได้ อย่างไรก็ตามกลไกในการถ่ายทอดเชื้อผ่านการตั้งครรภ์และน้ำนมนั้นยังไม่ชัดเจน และพบได้น้อยมาก
อาการไวรัสซิกา
โดยทั่วไปพบว่าราว 1 ใน 5 ของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสซิกานั้นจะป่วยและแสดงอาการ ระยะฟักตัวของโรคยังไม่แน่ใจ แต่น่าจะอยู่ในช่วงเดียวกับไข้หวัดใหญ่ คือ 2 – 3 วันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ อาการแสดงคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยจะมีไข้ ผื่น ปวดตามข้อ และตาแดง บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล อัตราการเสียชีวิตยังพบน้อย
ป้องกันไวรัสซิกา
การป้องกันไวรัสซิกาทำได้โดยป้องกันยุงกัดเป็นหลัก หลักการป้องกันและควบคุมโรคในไทยสามารถใช้หลักการเดียวกับการป้องกันไข้เลือดออก โดยธรรมชาติของยุงลายจะชอบกัดในเวลากลางวัน การสวมเสื้อผ้ามิดชิด อยู่ในมุ้งหรือใช้มุ้งลวด ช่วยลดความเสี่ยงของการโดนยุงกัดได้ สิ่งสำคัญคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งมักเป็นภาชนะที่มีน้ำขังในครัวเรือน เช่น ถ้วยชามที่มีน้ำขัง เศษขยะ เป็นต้น
เนื่องจากมีความกังวลถึงความเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อไวรัสซิกากับความผิดปกติของการตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หรือมีแนวโน้มจะตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด เนื่องจากไวรัสซิกาติดต่อจากยุงลายกัด ดังนั้นตัวไวรัสจะไม่สามารถถ่ายทอดได้โดยตรงจากการสัมผัสหรือไอจาม อย่างไรก็ตามในประเทศไทยบางครั้งอาการเจ็บป่วยไวรัสซิกาแยกจากไข้หวัดใหญ่ได้ยาก จึงควรมีมาตรการป้องกัน เมื่อเข้าใกล้ผู้ที่มีกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น การล้างมือ การไอจามต้องปิดปากทุกครั้ง ฯลฯ
|